Author: ธีราวรรณ ภารไสว
•00:09
ในปัจจุบัน มีซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อการนำเสนอหลากหลายโปรแกรม ซึ่งมีประสิทธิภาพคล้ายคลึงกัน แต่โปรแกรมที่นิยมกันอย่างแพร่หลายและใช้งานได้ง่าย คือ Microsoft PowerPoint ซึ่งเป็นโปรแกรมของบริษัทไมโครซอฟท์ จัดอยู่ในกลุ่มของซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์กราฟิก ที่ใช้ในการสร้างสไลด์ และแผ่นโปร่งแสงเพื่อการนำเสนอได้อย่างสวยงาม โดยมีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยากนัก จึงทำให้เป็นที่นิยมและใช้กันมากในการเรียนการสอนและการฝึกอบรมก่อนที่ท่านจะมีการนำเสนอหรือบรรยายในเรื่องใดๆ ก็ตามด้วยสไลด์ สิ่งแรกที่ท่านควรคำนึงถึง คือ การออกแบบสื่อเพื่อการนำเสนอ ซึ่งการออกแบบหน้าจอภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แม้เนื้อหาสาระของสารสนเทศที่ท่านนำเสนอจะมีความสำคัญ หรือมีคุณภาพเพียงใด หากการออกแบบสื่อเพื่อการนำเสนอไม่ดีพอ ผู้รับฟังการนำเสนอไม่สามารถรับสารสนเทศที่ท่านนำเสนอได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพ และอักษรที่ปรากฏ จะทำให้ประสิทธิภาพของการรับรู้ทางทัศนะไม่ดีเท่าที่ควร และส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการรับรู้สารสนเทศที่ท่านนำเสนอได้ นอกจากนี้ ยังทำให้ความสนใจของผู้รับฟังการนำเสนอลดลง ด้วยสาเหตุจากสื่อที่นำเสนอ ไม่ดึงดูดใจ เช่น ตัวอักษรเล็กเกินไป สีตัวอักษรดูกลมกลืนกับสีพื้นหลังทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน หรือมองไปคราวใดก็มีแต่ตัวอักษรเต็มหน้าจอไปหมด รู้สึกสารสนเทศอัดแน่น ไม่น่าชวนมอง หรือการกำหนดค่าการเคลื่อนไหวที่กำหนดตัวอักษรวิ่งเข้าแบบวน หรือกำหนดค่าการเคลื่อนไหวที่ช้าเกินไป มีตัวอักษรปรากฏทีละตัวๆ จนผู้รับฟังการนำเสนอต้องช่วยลุ้นว่า เมื่อไรตัวอักษรจะปรากฏจนครบบรรทัดสักที และยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งท่านอาจเคยมีประสบการณ์จากสื่อของผู้อื่นมาแล้ว และท่านคงไม่ต้องการให้เกิดสภาพเช่นนี้ อย่างแน่นอนในการนำเสนอของท่าน โดยเฉพาะการนำเสนอสื่อในเชิงวิชาการนั้นต้องการรูปแบบการนำเสนอที่ไม่หวือหวามากนักเช่นดังการนำเสนอในเชิงธุรกิจการค้า และประชาสัมพันธ์
1.ความเรียบง่าย:จัดทำสไลด์ให้ดูเรียบง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ใช้สีอ่อนเป็นพื้นหลังเพื่อไม่รบกวนสายตาในการอ่าน และสามารถเห็นเนื้อหาได้อย่างชัดเจน หรือใช้พื้นหลังตามลักษณะเนื้อหา
2.มีความคงตัว(consistent):เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการนำเสนอสไลด์ซึ่งเป็นเนื้อหาในเรื่องเดียวกัน คือ ต้องมีความคงตัวในการออกแบบสไลด์ ซึ่งหมายถึงต้องใช้รูปแบบสไลด์เดียวกันทุกแผ่นที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้น โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสี พื้นหลัง หรือขนาดและแบบตัวอักษร แต่หากต้องการเน้นจุดสำคัญ หรือเป็นเนื้อหาย่อยออกไปจะสามารถเปลี่ยนบางสิ่ง เช่น สีตัวอักษรในสไลด์ให้ดูแตกต่างไปได้บ้าง หรืออาจมีการเปลี่ยนสีพื้นหลังให้แตกต่างจากเนื้อหาสักเล็กน้อยก็อาจทำได้เช่นกัน
3.ใช้ความสมดุล:การออกแบบส่วนประกอบของสไลด์ให้มีลักษณะสมดุลมีแบบแผน (formal balance) หรือสมดุลไม่มีแบบแผน (informal balance) ก็ได้ แต่ต้องระวังสไลด์ทุกแผ่นให้มีลักษณะของความสมดุลที่เลือกใช้ให้เหมือนกันเพื่อความคงตัว
4.มีแนวคิดเดียวในสไลด์แต่ละแผ่น:ข้อความ และภาพที่บรรจุในสไลด์แผ่นหนึ่งๆ ต้องเป็นเนื้อหาของแต่ละแนวคิดเท่านั้น หากเนื้อหานั้นมีหลายแนวคิด หรือเนื้อหาย่อยต้องใช้สไลด์แผ่นใหม่
5.สร้างความกลมกลืน:ใช้แบบอักษรและภาพกราฟิกให้เหมาะสมกับลักษณะของเนื้อหา ใช้แบบอักษรที่อ่านง่าย และใช้สีที่ดูแล้วสบายตา เลือกภาพกราฟิกที่ไม่ซับซ้อน และให้ถูกต้องตรงตามเนื้อหา รวมถึงให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการด้วย
6.แบบอักษร:ไม่ใช้อักษรมากกว่า 2 แบบในสไลด์เรื่องหนึ่ง โดยใช้แบบหนึ่งเป็นหัวข้อ และอีกแบบหนึ่งเป็นเนื้อหา หากต้องการเน้นข้อความตอนใดให้ใช้ตัวหนา (bold) หรือตัวเอน (italic) แทนเพื่อการแบ่งแยกให้เห็นความแตกต่าง
7.เนื้อหา และจุดนำข้อความ:ข้อความในสไลด์ควรเป็นเฉพาะหัวข้อ หรือเนื้อหาสำคัญเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของเนื้อหา และควรนำเสนอเป็นแต่ละย่อหน้า โดยอาจมีจุดนำข้อความอยู่ข้างหน้า เพื่อแสดงให้ทราบถึงเนื้อหาแต่ละประเด็น และไม่ควรมีจุดนำข้อความมากกว่า 4 จุดในสไลด์แผ่นหนึ่ง โดยสามารถใช้ต้นแบบสไลด์ที่มีจุดนำข้อความใน Auto Layout เพื่อเพิ่มจุดนำข้อความให้ปรากฏขึ้นหน้าข้อความแต่ละครั้งเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้รับฟังการนำเสนอ อาจจะใช้การจางข้อความ (dim body text) ในข้อความที่บรรยายไปแล้วเพื่อให้มีเฉพาะจุดนำข้อความ และเนื้อหาที่กำลังนำเสนอเท่านั้นปรากฏแก่สายตา
8.เลือกใช้กราฟิกอย่างระมัดระวัง:การใช้กราฟิกที่เหมาะสมจะสามารถเพิ่มการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล แต่หากใช้กราฟิกที่ไม่เหมาะสมกับเนื้อหาจะทำให้การเรียนรู้นั้นลดลง และอาจทำให้สื่อความหมายผิดไปได้
9.ความคมชัด (resolution)ของภาพ:เนื่องจากความคมชัดของจอมอนิเตอร์มีเพียง 72-96 DPI เท่านั้น ภาพกราฟิกที่นำเสนอประกอบในเนื้อหาจึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก ควรใช้ภาพในรูปแบบ JPEG ที่มีความคมชัดปานกลาง และขนาดไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 20-50 KB ซึ่งท่านควรทำการบีบอัด หรือcompress และลดขนาดภาพก่อนเพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่ในการเก็บบันทึก และการจัดส่งไฟล์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e- mail) หรือการอัพโหลดไว้บนเว็บไซต์จะสามารถทำได้ไวยิ่งขึ้น
10.เลือกต้นแบบสไลด์ และแบบอักษรที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ร่วม:เนื่องจากการนำเสนอต้องมีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับอุปกรณ์ร่วม เช่น เครื่องแอลซีดี หรือโทรทัศน์เพื่อเสนอข้อมูลขยายใหญ่บนจอภาพ ดังนั้น ก่อนการนำเสนอควรทำการทดลองก่อนเพื่อให้ได้ภาพบนจอภาพที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะว่าเมื่อฉายแล้วเสี้ยวซ้ายของสไลด์จะไม่ปรากฏให้เห็นตามหลักของอัตราส่วน 4:3


ปัจจุบันได้มีการสร้างต้นแบบ (templates) สำเร็จรูปไว้เพื่อการนำเสนอด้วยโปรแกรม PowerPoint ไว้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งน่าดึงดูดใจ และสวยงาม โดยจัดพื้นหลัง กราฟิก ข้อความ และสีให้สอดคล้องตามลักษณะของแก่นสาระ และแยกประเภทเป็นหมวดหมู่ให้เลือกใช้งานได้โดยสะดวก เช่น ต้นแบบในการนำเสนอเกี่ยวกับวงการธุรกิจด้านต่างๆ วงการแพทย์ วงการฝึกอบรม/การศึกษาฯลฯ ซึ่งท่านควรเลือกใช้โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบข้างต้นประกอบด้วย เช่น ใช้พื้นหลังตามลักษณะเนื้อหาทั้งนี้ การนำหลักการออกแบบหน้าจอภาพดังกล่าวข้างต้น มาใช้เป็นหลักในการออกแบบสไลด์เพื่อการนำเสนอ จะช่วยให้การนำเสนอของท่านมีความน่าสนใจ และบรรลุประสิทธิผลยิ่งขึ้น
This entry was posted on 00:09 and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 ความคิดเห็น: