Author: ธีราวรรณ ภารไสว
•00:10











มูลเหตุที่ทำ

เพื่อให้ภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ผลัดเปลี่ยนไตรจีวรใหม่ เนื่องจากของเก่าใช้นุ่งห่มมาตลอดระยะเวลาสามเดือนที่เข้าพรรษา ย่อมเก่า มีเรื่องเล่าว่าภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูปพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร ไปไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษา ที่เมืองสาเกตุพอออกพรรษาแล้วพากันเดินกรำฝน จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน พอไปถึงแล้วก็เข้าเผ้าพระองค์ทรงเห็นความลำบากของภิกษุเหล่านั้นจึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ นางวิสาขาทราบความประสงค์จึงนำผ้ากฐินมาถวายเป็นคนแรก จึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ชนิดของกฐินที่ทำมี 2 ประเภท
1. กฐินเล็กหรือภาคกลางเรียกว่า "จุลกฐิน" ซึ่งเป็น "กฐินเล็ก" เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นด้าย ทอเป็นผืน ตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรพร้อมทั้งย้อมสี ซึ่งกฐินประเภทนี้ต้องให้ความร่วมมือร่วมแรงของผู้คนเป็นจำนวนมากจึงจะเสร็จทันเวลา จังหวัดอุบลราชธานีทำจุลกฐินที่วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
2. มหากฐิน เป็นกฐินที่มีบริวารมาก ใช้เวลาเตรียมการนานมีคนนิยมทำกันมากเพราะถือว่าได้บุญได้กุศลมากขนาดผ้ากฐิน มีกำหนดขนาดผ้าที่ใช้ทำเป็นผ้ากฐิน ดังนี้ ผ้าสบง ยาว 6 ศอก กว้าง 2 ศอก ผ้าจีวรและสังฆาฏิ มีขนาดเท่ากัน คือ ยาว 6 ศอก กว้าง 4 ศอก ผ้ากฐินทั้ง 3 ผืนนี้เรียกว่า"ไตรจีวร"
องค์ประกอบสำคัญของกฐินประกอบด้วย "อัฐบริขาร" สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็มเย็บผ้า ประคตเอว (ผ้ารัดเอว) กระบอกกรองน้ำองค์ประกอบทั้ง 8 อย่างนี้จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะถือว่าเป็น "หัวใจ"ของกฐินหรือเป็น "บริขารกฐิน" จะมีหรือไม่มีก็ได้ เช่น ผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ ผ้าห่มกันหนาว เสื่อ หมอน ถ้วย จาน แป็นต้นพระสงฆ์ที่จะรับกฐินได้ต้องเป็นผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน และมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 5 รูป ถ้าไม่ถึง 5 รูปถือว่าใช้ไม่ได้ แม้จะนิมนต์ไปจากวัดอื่นให้ไปร่วมประชุมสงฆ์เพื่อรับกฐินก็ไม่สามารถรับกฐินได้

พิธีกรรม
ผู้มีศรัทธาประสงค์จะทำบุญกฐินต้องไปติดต่อของจองวัดที่จะนำกฐินไปทอด เมื่อเจ้าอาวาสแจ้งว่าวัดนั้นยังไม่มีผู้ใดมาจองกฐินผู้มีศรัทธาที่จะทำบุญกฐิน จะเขียนสลาก (ใบจอง) บอกชื่อต้น ชื่อสกุล ตำแหน่งที่อยู่ของตนให้ชัดเจน เพื่อประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นผู้จอง และจะนำกฐินมาทอดที่วัดดังกล่าว สลากต้องปิดไว้ในที่เปิดเผย เช่น ศาลาโรงธรรม โบสถ์ และต้องบอกวัน เวลาที่จะทอดด้วย เพื่อไม่ให้ผู้อื่นไปจองซ้ำ เพราะปีหนึ่ง แต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงกองเดียว เมื่อจองแล้วก็จัดหาเครื่องบริขารและบริวารกฐินไว้บอกญาติ และพี่น้องให้มาร่วมกันทำบุญ งานบุญกฐินถือว่าเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ที่ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าผู้ใดทำบุญกฐินแล้วตายไปก็จะไม่ตกนรกมีแต่จะได้รับผลบุญที่ตนเองกระทำสะสมไว้ในชาตินี้ไว้เก็บกินในชาติหน้า
เมื่อถึงวันรวมก็จะตั้งองค์กฐินที่บ้านของตน โดยซื้อเครื่องอัฐบริขารและเครื่องบริวารกฐิน ซึ่งเครื่องบริวารกฐินส่วนมากจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนมาตั้งวาางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน อาสนสงฆ์ ผ้าห่ม ถ้วย จาน ฯลฯ มาร่วมสมทบกองกฐิน เมื่อถึงวันงานก็นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญ พระพุทธมนต์ฟังเทศน์ ตอนกลางคืนอาจจัดให้มีงานมหรสพต่างๆ เช่น หมอลำ ภาพยนต์หรืออาจจัดเป็นงานเลี้ยงฉลองบุญกฐินก็แล้วแต่เจ้าภาพ
พอตอนรุ่งเช้าก็แห่กฐินจากบ้านไปถวายพระสงฆ์ที่วัดเมื่อเดินทางไปถึงวัด จึงเริ่มแห่เครื่องกฐินทั้งหมดรอบศาลาโรงธรรมโดยแห่เวียนขวา 3 รอบ แล้วจึงนำกฐินขึ้นตั้งบนศาลาโรงธรรม จากนั้นก็จะนำข้าวปลา อาหารเลี้ยงพระ ถ้าถวายตอนเช้าก็เลี้ยงพระตอนฉันเพล เมื่อพระสงฆ์สามเณรฉันเสร็จแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพองค์กฐินจะนุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยรับศีล แล้วกล่าวคำถวายกฐิน เป็นการเสร็จพิธีของฝ่ายญาติโยม ส่วนพระสงฆ์เมื่อมีกฐินมาทอดที่วัด ก็จะประชุมสงฆ์ทั้งวัดแล้วให้ภิกษุรูปหนึ่งถามที่ประชุมสงฆ์ว่า ผ้ากฐินและเครื่องบริวารจะมอบพระสงฆ์รูปใด จะมีภิกษุรูปหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ว่ ควรให้แก่ภิกษุรูปใด โดยเอ่ยนามภิกษุที่สมควรจะได้รับกฐิน ส่วนมากก็จะเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบตามที่มีผู้เสนอ ก็จะเปล่งคำว่า "สาธุ" พร้อมกัน จากนั้นญาติโยมก็จะพากันถวายเครื่องปัจจัยไทยทานแด่ภิกษุสามเณรอื่นๆ ทั้งวัด พระสงฆ์รับแล้วจะอนุโมทนา และให้พรเป็นการเสร็จพิธี

มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ ครั้งพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า บุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเป็นคนเข็ญใจไร้ที่พึ่ง ไปอาศัยสิริธรรมเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ นับได้ 80 โกฏิ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้ อาศัยอยู่กินหลับนอนในบ้านท่านเศรษฐี ๆ ถามว่า "เธอมีความรู้อะไรบ้าง?" เขาตอบอย่างอ่อนน้อมว่า "กระผมไม่มีความรู้เลยขอรับ" ท่านเศรษฐีจึงถามว่า "ถ้าอย่างนั้นเธอจะรักษาไร่หญ้าให้เราได้ไหม? เราจะให้อาหารวันละหม้อ" เพราะความที่เขายากจน บุรุษนั้นจึงตอบตกลงทันที แล้วเข้าประจำหน้าที่ของตนต่อไป และมีชื่อว่า ติณบาล เพราะรักษาหญ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
วันหนึ่งเป็นวันว่างงาน เขาจึงคิดว่า "ตัวเรานี้เป็นคนยากจนเช่นนี้เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติก่อนเลย มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่นไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย" เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้ ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระสงฆ์ผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเองรับประทาน ด้วยเดชกุศลผลบุญอันนั้น ทำให้ท่านเศรษฐีเกิดสงสารเขา แล้วให้อาหารเพิ่มอีกเป็น 2 ส่วน เขาได้แบ่งอาหารเป็น 3 ส่วน ถวายแก่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้แก่คนจนทั้งหลาย ส่วนที่สามเอาไว้บริโภคสำหรับตนเอง เขาทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาช้านาน
ต่อมาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้มีศรัทธาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีผู้เป็นนายของเขาก็เตรียมจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า สิริธรรมเศรษฐีจะได้ทำบุญกฐินเมื่อติณบาลได้ยินก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันทีว่า กฐินทานนี้แหละจะเป็นทานอันประเสริฐ แล้วเข้าไปหาท่านเศรษฐีถามว่า "กฐินทานมีอานิสงฆ์อย่างไรบ้าง?" เศรษฐีตอบว่า "มีอานิสงฆ์มากมายหนักหนาสมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสโถมนาการ สรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ" เมื่อเขาได้ทราบดังนี้แล้ว ก็มีความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก จึงพูดกับเศรษฐีว่า "ผมมีความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วย ท่านจะเริ่มงานเมื่อไรขอรับ?" ท่านเศรษฐีตอบว่า "เราจะเริ่มงานเมื่องครบ 7 วัน นับจากวันนี้ไป"
ติณบาลได้ฟังดังนั้นก็ดีใจยิ่งนัก ได้กลับไปยังที่อยู่ของตน แล้วเกิคความคิดว่า เราไม่มีอะไรเลย แม้ผ้าผืนเดียว เราจะทำบุญร่วมกับท่านเศรษฐีได้อย่างไร เขาครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานาน ยิ่งคิดไปก็ยิ่งอัดอั้นตันปัญญา หาสิ่งที่จะร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐีไม่ได้ ในที่สุดเขาได้เปลื้องผ้านุ่งของตนออกพับให้ดี แล้วเย็บใบไม้นุ่งแทน แล้วเอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด ชาวตลาดทั้งหลายเห็นอาการเช่นนั้น ก็พากันหัวเราะกันออกลั่นไปเขาชูมือขึ้นแถลงว่า "ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจนไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์"
ครั้นพูดชี้แจงแก่ประชาชนชาวตลาดดังนี้แล้ว เขาได้ออกเดินเร่ขายเรื่อยไป ในที่สุด เขาได้ขายผ้านั้นในราคา 5 มาสก (1 บาท) แล้วนำไปมอบให้ท่านเศรษฐีๆ ได้ใช้ซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร ในกาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในฉกามาพจรสวรรค์
ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีทรงทราบเหตุผล จึงรับสั่งให้นำติณบาลเข้าเฝ้า แต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้าเพราะละอาย จึงได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอดแล้ว ทรงให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่เขา นอกจากนั้นได้พระราชทานบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ทาสี ทาสา เป็นอันมากแล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า ติณบาลเศรษฐี จำเดิมแต่บัดนั้นเป็นไป
ครั้งต่อกาลนานมา ติณบาลเศรษฐีเมื่อดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ตายไปเกิดเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์พิภพ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานแก้ว สูงได้ 5 โยชน์ มีนางเทพอัปสรหมื่นหนึ่งเป็นบริวาร ส่วนสิริธรรมเศรษฐี ครั้นตายจากโลกมนุษย์แล้วได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกันกับติณบาลเศรษฐี



This entry was posted on 00:10 and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 ความคิดเห็น: