•23:31
แม้จะเรียกขานชื่อวันแตกต่างกันไป แต่ไฮไลท์หลักของบุญวันนี้ ก็คือความเชื่อที่ว่า วันนี้เป็นวัน"ปล่อยผี" เป็นจังหวะดีที่เหล่าสัมภเวสีผีไร้ญาติขาดมิตร หรือผีที่คิดจะยื่นขอลี้ภัยหนีไปตายต่างประเทศ จะได้สิทธิพิเศษ ได้กินของแจกทานในวันนี้
ตามตำนานของคนอีสานเล่าถึงมูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า
... มีบุตรชายกฎุมพี(คนมั่งมี)ผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย
ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี
พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา
นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดี จะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัต แด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ
ชาวอิสานจึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า " ตาแฮก "
เท่าที่จำได้ พิธีทำบุญข้าวสาก ชาวบ้านอีสานจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ใส่ภาชนะหรือห่อด้วยใบตองหรือใส่ชะลอมไว้แต่เช้ามืด วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตอนเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอตอนสายจวนเพลจึงนำอาหารซึ่งเตรียมไว้แล้วไปวัดอีกครั้ง เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก และกล่าวคำถวายดังนี้
..คำถวายสลาก
ภัตอิมานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภักขุสังโฆ อิมานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัง ญาตะกานัณจะกาละ กะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายกับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงให้โอกาสรับซึ่งสลากภัต กับทั้งบริขารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย และญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น ซึ่งล่วงลับไปแล้วตลอดกาลนานาเทอญ
0 ความคิดเห็น: